การลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

การลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
How to การลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขั้นตอนและเอกสารที่ต้องเตรียม

การลงทะเบียนผู้สูงอายุเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

“เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” หรือ “เบี้ยยังชีพคนชรา” เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่สัญชาติไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน เมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนแบบขั้นบันไดตามช่วงวัย ดังนี้

อายุ 60 - 69 ปี 600 บาท/เดือน
อายุ 70 - 79 ปี 700 บาท/เดือน
อายุ 80 - 89 ปี 800 บาท/เดือนอายุ 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท/เดือน

แต่ละปีจะมีการลงทะเบียนของผู้สูงอายุรายใหม่ ๆ ที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลและเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ

ตรวจสอบคุณสมบัติ

ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สูงอายุให้ครบตามเกณฑ์ก่อน ดังนี้

1. สัญชาติไทย
2. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
3. ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น เงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐจัดให้เป็นประจำ

เอกสารที่ต้องเตรียม

เตรียมเอกสารใช้ในการลงทะเบียนให้พร้อม
1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้สูงอายุหรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
2. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ที่เป็นปัจจุบัน) ที่ผู้สูงอายุมีรายชื่ออยู่
3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารตัวจริง ในนามผู้มีสิทธิ/ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ (สำหรับกรณี ประสงค์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร)
*ในกรณีผู้สูงอายุไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้ โดยผู้รับมอบอำนาจต้องเตรียมบัตรประชาชนของตนเอง และหนังสือมอบอำนาจไปด้วย


ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ที่ไหน

สามารถติดต่อได้ที่ เทศบาล องค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) สำนักงานเขต ในพื้นที่ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เป็นการลงทะเบียนครั้งเดียว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน

กรณีย้ายภูมิลำเนา กรณีย้ายภูมิลำเนาต้องลงทะเบียนใหม่โดยเร็ว หากผู้สูงอายุมีการย้ายภูมิลำเนาไปพื้นที่อื่น มีการย้ายทะเบียนบ้าน จะต้องไปลงทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกับสำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่โดยเร็ว เพื่อจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่เชียงใหม่ ต่อมาย้ายทะเบียนบ้านมาที่กาญจนบุรี ก็ต้องรีบไปลงทะเบียนขอเบี้ยยังชีพผุ้สูงอายุใหม่ในหน่วยงานในจังหวัดกาญจนบุรี
ถ้าผู้สูงอายุที่ย้ายทะเบียนบ้านแล้วยังไม่ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสำนักงานเขตแห่งใหม่ จะทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพจากแห่งเดิมและแห่งใหม่ จนกว่าจะยื่นคำขอลงทะเบียนใหม่


การยกเลิกรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กรณีเสียชีวิต

ผู้ดูแลต้องไปติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสำนักงานเขตที่ผู้สูงอายุใช้สิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยนำใบมรณบัตรไปแสดง เพื่อแจ้งสละสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ป้องกันการถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เกินในภายหลัง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุงเทพมหานครที่สำนักงานเขต ส่วนต่างจังหวัดสอบถามได้ที่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลในท้องถิ่น หรือติดต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เบอร์ 0 2241 9000 ต่อ 4131

ที่มา กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุจากภาครัฐ
เมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์และมีสัญชาติไทย รัฐเตรียมสวัสดิการตามสิทธิของผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง
สิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุขของ
สิทธิประโยชน์ "คนพิการ" ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
การออกกำลังกายสำหรับผู้มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนลงพุง (Overweight and obesity)
การควบคุมน้ำหนัก ควรออกกำลังกายให้ได้ 150 นาที/สัปดาห์ ...
ห่างไกลสมองเสื่อม
เริ่มวันนี้ ลดเสี่ยงสมองเสื่อมได้ถึง 30%
เป็นโรคก็ออกกำลังกายได้
การออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นยาที่ดีที่สุด ...
จากผู้ดูแลถึงผู้ดูแล
ข้อแนะนำการดูแลรักษาผู้มีภาวะสมองเสื่อมในมุมมองของผู้ดูแล
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.