โรคฟัน

โรคฟัน ที่สำคัญได้แก่ โรคฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบ ทั้ง 2 โรค ล้วนมีต้นเหตุมาจาก แผ่นคราบจุลินทรีย์ ในปัจจุบันเรียกว่า ไบโอฟิล์ม ภาษาชาวบ้าน คือ ขี้ฟัน
แผ่นคราบจุลินทรีย์ คืออะไร
แผ่นคราบจุลินทรีย์ ไม่ใช่เศษอาหารชิ้นใหญ่ ๆ ที่ตามตามตัวฟันหลังรับประทานอาหาร แต่เกิดจากสารเหนียวในน้ำลายเคลือบ ผิวฟันเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ มีเยื่อบุผิวในช่องปากที่ตายแล้วหลุดลอกออกมา คราบอาหาร และเชื้อโรคหลายชนิดรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ยึดกันด้วยสารเหนียวในน้ำลาย
ในช่วงต้น ๆ ของ การเกิดจะมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่นใกล้เคียงกับสีฟัน ทำให้มองเห็นได้ยาก ในระยะนี้สามารถกำจัดออกได้โดยการฉีดพ่นน้ำ หรือแปรงออกได้ง่าย ถ้าสะสมไว้นาน ๆ จะมีสีเหลืองเข้ม และยิ่งเหนียว ยิ่งกำจัดออกยากโดยการแปรงฟัน
บริเวณที่มีมักพบแผ่นคราบจุลินทรีย์ คือ บริเวณขอบเหงือก ในแผ่นคราบจุลินทรีย์ประกอบด้วย เชื้อโรคที่สามารสร้างกรดจากน้ำตาลที่สะสมไว้ที่ตัวฟัน ทำให้เกิดฟันผุได้ ขณะเดียวกันเชื้อโรคกลุ่มที่สร้างสารพิษ ทำให้เกิดภาวะเหงือกอักเสบหรืออวัยวะปริทันต์อักเสบได้
ดังนั้น การป้องกันโรคฟัน นั่นคือ การกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกให้ได้นั่นเอง
โรคฟันผุ
เป็นการสูญเสียแร่ธาตุของผิวฟันมากกว่าการคืนกลับของแร่ธาตุ โรคฟันผุเกิดจากเชื้อโรคที่สร้างกรด และทนต่อสภาวะที่เป็นกรดได้ โดยเชื้อโรคเหล่านี้สังเคราะห์กรดได้จากอาหารกลุ่มแป้ง และน้ำตาล ถ้ากรดมีปริมาณสูงระดับหนึ่ง ก็จะสามารถกัดกร่อนผิวฟันตั้งแต่ขาวขุ่นจนเป็นรูได้ 
ดังนั้น ทำความสะอาดหลังรับประทานอาหาร การลดความถี่ในการรับประทานอาหาร หรือลดการรับประทานอาหารแป้งและน้ำตาล เป็นการลดการสร้างกรดในช่องปากได้ ในขณะเดียวกันน้ำลายในช่องปาก มีน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ช่วยลดเป็นความกรด และสามารถมีการคืนกลับของแร่ธาตุจากน้ำลายเข้าสู่ผิวฟัน ทำให้ฟันไม่ผุได้
ใครมีอาการแบบนี้บ้างไหม ?
สัญญาณอันตราย ! โรคปริทันต์มาเยือนแล้ว
1. มีเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน 
2. เหงือกบวมแดง
3. มีกลิ่นปาก
4. เหงือกร่น
5. ฟันโยก
โรคปริทันต์อักเสบ
เกิดจากเชื้อโรคในแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่มีฤทธิ์ในการสร้างสารพิษ และภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองต่อสารพิษนี้ เกิดเป็นการอักเสบขึ้น ความรุนแรงของโรคนี้มีหลายระดับ ตั้งแต่เหงือกอักเสบจนถึงกระดูกรอบรากฟันถูกทำลาย ฟันโยกในที่สุด
แผ่นคราบจุลินทรีย์ในระยะแรกจะมีสีขาวใกล้เคียงกับสีฟัน ทำให้มองเห็นยาก หากทิ้งไว้นาน มีการสะสมแร่ธาตุจากน้ำลาย เกิดเป็นหินปูนได้ ซึ่งถ้าไม่ทำการขูดหินปูนปล่อยให้มีการสะสมนานมากขึ้น จะมีปริมาณหินปูนมากขึ้น ความรุนแรงของเชื้อโรคจะมากขึ้นสามารถลงสู่ร่องเหงือกไปทำลายกระดูกรอบรากฟัน และอวัยวะรอบๆ รากฟันจนฟันโยก หรือฟันเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมเหงือกบวมเป็นหนอง มีกลิ่นปาก
เรียบเรียงจากหนังสือ รู้-เฒ่า-ทัน-สุข
ผู้เขียน : ทพญ.นันทนา ศรีอุดมพร
งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มาเข้าใจเรื่องฟันกันเถอะ
เป้าหมายในชีวิตของคนเราในวัยสูงอายุ มักตอบว่า อยากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรค แต่หารู้ไม่ว่า ...
การดูแลสุขภาพช่องปาก
การดูแลความสะอาดภายในปากและฟันอย่างถูกวิธี นอกจากช่วยให้มีฟันแข็งแรงแล้ว ยังเป็นการดูแลสุขภาพร่างกาย ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
วางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงในวัยสูงอายุ
ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ...
ชนิดของสมองเสื่อม
สมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยเกิดจากอัลไซเมอร์ ...
สูงวัยกล้ามเนื้อหาย อันตรายนะ
มื่ออายุมากขึ้นร่างกายของเราจะเสียมวลกล้ามเนื้อ ...
น่ารู้เกี่ยวกับโปรตีน
โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีมากใน เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.